top of page

ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดสมรรถภาพทางเพศ 

Chincheewa Healthcare Rehabilitation Center แพทย์ฟื้นฟูประจำครอบครัวคุณ

การออกกำลังกาย และการกายภาพบำบัดกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย

       ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หรือโรค อี ดี (ED/ Erectile dysfunction) สาเหตุหลักของอาการที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้บางรายอาจจะไม่แข็งตัว หรือแข็งตัวไม่นานพอ บางรายมีอาการหลั่งเร็ว หลั่งไว สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการเหล่านี้เกิดจาก

       - ความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะเพศ ต้นเหตุจากไขมันที่เข้าไปอุดตันอยู่ภายในหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงอวัยวะเพศชาย มากกว่านี้ยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ในเพศชาย

       - ภาวะพร่องฮอร์โมนในเพศชาย ปัจจัยในด้านต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) คือ อายุที่เพิ่มมากขึ้น ฮอร์โมน Testosterone จะลดลงโดยธรรมชาติ ทำให้มีปัญหาด้านการแข็งตัวของอวัยวะเพศ แต่อาการเหล่านี้อาจพบได้เร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 40-45 ปี ในผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ จนส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายถูกใช้ไปกับการจัดการความเครียด และไม่เพียงพอต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ความอ้วนและไขมัน น้ำหนักตัวเกิน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว มีปัญหาเรื่องแข็งตัวได้ไม่ดี ความเครียด ภาวะซึมเศร้า หรือความวิตกกังวล จากการทำงานหนัก หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงผู้ที่มีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์ ก็มีผลให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง

       - ความผิดปกติของระบบประสาท ที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศ

       - การใช้ยา ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาความดันโลหิตบางชนิด ยาขับปัสสาวะ ยาความดัน ยาบางชนิดที่ใช้เป็นประจำ มีผลข้างเคียงอาจทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวได้

       ลักษณะอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้

       1. การที่องคชาตไม่เคยแข็งตัวเต็มที่ หรือไม่แข็งพอที่จะทำให้ร่วมเพศสำเร็จเลย

       2. การที่องคชาตเคยแข็งตัวและร่วมเพศได้มาก่อน แต่ต่อมาเกิดความผิดปกติขึ้น ทำให้ไม่สามารถแข็ง   

           ตัวเหมือนเดิม

       3. การที่อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรณีนี้ หากพบปัญหาและรีบรักษา             แต่เนินๆ สามารถหายเป็นปกติได้ 

 

       เมื่อนึกถึงภาวะของระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลง คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงผู้ชายวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ แต่ผู้ชายที่อยู่ในวัยทำงานก็สามารถพบอาการลดลงของฮอร์โมนนี้ได้เช่นกัน โดยปกติฮอร์โมนเพศชาย (Testosterone) จะมีมากที่สุดในช่วงวัยรุ่น แต่ระดับของฮอร์โมนนี้จะเริ่มลดลงประมาณ 1% ในแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 30 ปีเป็นต้นไป ซึ่งในช่วงวัยนี้อาจจะพบปัญหาได้ไม่มาก แต่ก็มีโอกาสได้เช่นกัน สาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายในวัยทำงานต่ำกว่าปกติตามหลักการข้างต้น ฮอร์โมนเพศจะลดลงประมาณ 1% สวนทางกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญของการลดลงอย่างผิดปกติของฮอร์โมนเพศในผู้ชายวัยทำงานที่สำคัญก็คือ ‘พฤติกรรมการใช้ชีวิต’ หรือไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันนั่นเอง
 

       ในส่วนของการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกายไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยพัฒนาในเรื่องของระบบหัวใจ การไหลเวียนเลือด หรือแม้กระทั่งการออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อนั้นก็มีประโยชน์ต่อสมรรถภาพทางเพศทั้งนั้น การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาระบบหัวใจและหลอด (Cardiovascular System) มีงานวิจัยในปี 2018 พบว่าการออกกำลังกายแบบ Cardiovascular System ระดับปานกลาง70-80% เป็นเวลา 30 นาทีต่อวัน สี่ครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือนช่วยให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น การออกกำลังกายช่วยทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานดีขึ้น ลดความเครียด และเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งทั้งหมดสามารถช่วยในเรื่องการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้

       นอกเหนือจากการกายภาพบำบัดแล้ว การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย เพื่อส่งเสริมการมีสมรรถภาพทางเพศที่ดีขึ้นก็สำคัญ เช่น การออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้ออุ้มเชิงกราน (Pelvic Floor Muscle Exercise) กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานมีความสำคัญในการทำงานทางเพศทั้งชายและหญิง เนื่องจากช่วยเพิ่มและรักษาการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศในระหว่างการกระตุ้นทางเพศ ทั้งความแข็งแรงและความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวมีความสำคัญต่อการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสมในทุกส่วนของร่างกาย รวมถึงอุ้งเชิงกราน การออกกำลังกายบริเวณอุ้งเชิงกรานสามารถปรับปรุงการทำงานของอวัยวะเพศได้  สามารถเป็นแนวทางแรกของการรักษา และใช้ร่วมกับตัวเลือกการรักษาอื่นๆ ได้

bottom of page